เดลินิวส์
13/7/01
ศูนย์วิจัยพืชไร่"เมืองระยอง"เตือนระวังโรคยอดพุ่มมันสำปะหลัง
ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ให้ระวัง "โรคยอดพุ่ม" ระบาด แนะวิธีป้องกันแบบภูมิปัญญาชาวบ้านอย่าให้ท่อนพันธุ์ติดโรค-ปลูกพืชหมุนเวียน-ทำลายวัชพืชก่อนลงมือปลูก
คุณอรรถพล บุญสิงห์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เปิดเผยถึงโรคยอดพุ่มมันสำปะหลัง ว่าจะมีอาการที่ยอดคล้ายเป็นพุ่ม ลำต้นและใบมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลืองคล้ายขาดธาตุอาหาร มีตาถี่ บางต้นมียางไหล ยอดแห้งและแตกยอดใหม่ออกมาจากตาด้านข้าง อัดเป็นพุ่มขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก เมื่อแกะดูเนื้อภายในท่อน้ำและท่ออาหารจะสีดำคล้ำกว่าปกติ สำหรับโรคนี้พบครั้งแรกในไร่มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ของเกษตรกรที่อำเภอหางแมว จังหวัดจันทบุรี และปัจจุบันโรคยอดพุ่มแพร่กระจายมากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเกษตรกรที่ได้นำท่อนพันธุ์เป็นโรคไปปลูก
นอกจากนี้การใช้พื้นที่ปลูกซ้ำเป็นเวลานาน แบบไม่มีการพักดินหรือปลูกพืชหมุนเวียน ทำให้มีการสะสมของโรคทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งน้ำฝนทำให้โรคแพร่ระบาดจากต้นสู่ต้นโดยการกระเด็นของเมล็ดฝน สำหรับการป้องกันและกำจัด ขอแนะนำให้เกษตรกรใชพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรค ควรหลีกเลี้ยงการปลูกในพื้นที่ ที่มีฝนตกชุก และมีความชื้นในอากาศค่อนข้างสูง รวมทั้งเกษตรกรควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง หรือพืชตระกูลถั่ว ก่อนปลูกมันสำปะหลังในรอบต่อไป และก่อนปลูกควรทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรค โดยนำมากองรวมกันแล้วเผาทิ้ง แต่ไม่แนะให้ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค สงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โทร. 038-681516.
พงษ์ศักดิ์ อยู่หุ่น PhD
คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยนเรศวร
This version of TreePad is not registered