หน้าแรก หน่วยงาน บุคลากร งานวิจัย เอกสารวิชาการ กระบวนวิชา กิจกรรม โครงการ อาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ KQI SAR เว็บเมล์ มน. ค้นหา เข้าระบบ  

   โครงการวิจัย
ค้นหาโครงการวิจัย
โครงการวิจัยทั้งหมด
โครงการวิจัยที่คนเข้าบ่อย
โครงการวิจัยเด่น

   แยกสังกัด/ปีงบประมาณนี้
ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร
ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร
ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

   ตัวบ่งชี้คุณภาพ KQI
เงินวิจัยภายนอก (29)
เงินวิจัยภายใน (30)
บทความวิจัย (31)
วิจัยที่ใช้ประโยชน์(32)



  โครงการวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ หน้าแรก  ค้นหา แนะนำ  

การประเมินศักยภาพที่ดินและแนวทางการจัดรูปที่ดินเพื่อกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจและพื้นที่คุ้มครองบริเวณแหล่งต้นน้ำบนพื้นที่ภูเขาสูงชัน (สสส. ปี 2554)
Land Evaluation and Land Readjustment Guideline for Zoning of Agro-economic and Protected Areas in Steep Mountainous Upstream Area

หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.จรัณธร บุญญานุภาพ
หน่วยงาน ภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
แหล่งสนับสนุนงานวิจัย แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (TUHPP) ภายใต้ก่ารสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ระยะเวลาดำเนินการ 30 กันยายน 2554 - 14 ตุลาคม 2555



กลุ่มวิจัย

  1. กลุ่มวิจัยเกษตรที่สูง
  2. กลุ่มวิจัยเรียนรู้ร่วมพัฒนาชุมชนและนวัตกรรม
  3. กลุ่มวิจัยสารเคมีทางการเกษตรและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
  4. กลุ่มวิจัยเศรษฐศาสตร์/สังคมและธุรกิจ
  5. กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ

รายชื่อนักวิจัย

  1. ผศ.ดร.จรัณธร บุญญานุภาพ (หัวหน้าโครงการ)
  2. นายประสิทธ์ ทองเล่ม (นักวิจัยร่วม) , จาก องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

รายการเงินงบประมาณ

  1. พ.ศ.2554   เป็นเงิน  732,418.00 บาท
 

บทคัดย่อ : ดาวน์โหลด (0 KB)
ดาวน์โหลด : 39 ครั้ง

วัตถุประสงค์โครงการ


1. เพื่อประเมินศักยภาพที่ดินสำหรับเขตการใช้ที่ดินที่เหมาะสมกับศักยภาพการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเกษตรและการพัฒนาเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ในพื้นที่ตำบลแม่พูลและตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
2. เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการให้สิทธิแก่ชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินในรูปโฉนดชุมชน บริเวณแหล่งต้นน้ำและพื้นที่ภูเขาสูงชันในพื้นที่สงวนคุ้มครองของรัฐ
3. เพื่อออกแบบแนวทางการจัดรูปที่ดิน พร้อมทั้งเสนอมาตรการเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชน บริเวณแหล่งต้นน้ำและพื้นที่ภูเขาสูงชัน

ลักษณะโครงการ

การวิจัยครั้งนี้ได้ดำเนินการในพื้นที่ตำบลแม่พูลและตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งตำบลทั้งสองแห่งเป็นเขตเกษตรเศรษฐกิจที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ดินถล่มในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2549 จึงเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรการเกษตร และได้ส่งผลให้เกิดปัญหาการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณแหล่งต้นน้ำในพื้นที่ภูเขาสูงชันตามมา

เนื่องจากพื้นที่สวนไม้ผลผสมที่เกษตรกรในท้องถิ่นตำบลแม่พูลและตำบลฝายหลวงได้จับจองเป็นที่ทำกินมานานแล้วในอดีตนั้น อยู่ในบริเวณแหล่งต้นน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนหวงห้ามอันเป็นที่ดินของรัฐ (ป่าสงวนแห่งชาติและแนวเขตป่าไม้ถาวร ) ทำให้เกิดอุปสรรคแก่เกษตรกรเจ้าของที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเข้าไปบริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรที่ดินของตนเองในทางกฎหมาย ดังนั้นในการศึกษาวิจัยนี้จึงได้นำแนวคิดเรื่อง “การให้สิทธิ์ชุมชนบริหารจัดการที่ดินได้ด้วยตนเองในรูปแบบโฉนดชุมชน” มาเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์บนที่ดินของรัฐด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย (Legality) และให้เกิดความชอบธรรมทางสังคม (Social legitimacy) แก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งสองแห่ง

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธาร มีความเปราะบางในประเด็นเรื่องการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศให้กับพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ภูเขาสูงชัน แม้ว่าการทำสวนไม้ผลผสมแบบวนเกษตรจะเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรยั่งยืน แต่หากปราศจากหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good agricultural practices) แล้ว การใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมบนพื้นที่ดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในบริเวณผืนป่าต้นน้ำ อันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อวิถีเกษตรกรรมของชุมชนทั้งสองแห่ง อนึ่ง การที่เกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชนได้อย่างชอบธรรมนั้น จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม รวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำ โดยการทำเกษตรกรรมต้องอยู่บนฐานของแนวคิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรบนพื้นที่ต้นน้ำอย่างยั่งยืน แต่ด้วยเหตุที่ พื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนเป็นการขอสิทธิการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินจากกลุ่มเกษตรกรที่มีแปลงที่ดินติดกันเป็นผืนใหญ่บริเวณกว้าง

ดังนั้น การวิจัยนี้ได้บูรณาการ แนวคิดการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเข้ากับหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ มาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนบริเวณแหล่งต้นน้ำและพื้นที่ภูเขาสูงชัน อย่างไรก็ดี ในการสำรวจและวัดแนวเขตของแปลงที่ดินเพื่อจัดทำแผนที่โฉนดชุมชน จำเป็นต้องเก็บรวมรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ ลักษณะภูมิประเทศ โครงสร้างชั้นเรือนยอดของสังคมพรรณไม้ การใช้ประโยชน์ทรัพยากรและผลผลิตการเกษตร ปัญหาผลผลิตการเกษตร ความเสียหายและความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจ สังคม และสิทธิในการถือครองที่ดินในระดับครัวเรือนของผู้ถือครองที่ดิน ดังนั้น ชุดข้อมูลโฉนดชุมชนในระดับรายแปลงถือเป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งมีรายละเอียดและความถูกต้องมากเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการออกแบบแนวทางการจัดรูปที่ดินและมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำของพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นสำคัญของการวิจัยครั้งนี้ คือ การค้นหาแนวทางที่ดี เพื่อให้ชุมชนดั้งเดิมในท้องถิ่นเกิดความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายในการเข้าถึงสิทธิเพื่อบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ของรัฐบริเวณแหล่งต้นน้ำและพื้นที่เขาสูงชัน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ


การวิจัยครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสิทธิการใช้ทรัพยากรที่ดินของชุมชนในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการให้สิทธิแก่ชุมชนท้องถิ่นในการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่สงวนคุ้มครองของรัฐบริเวณแหล่งต้นน้ำ โดยแนวทางและเงื่อนไขในการดำเนินงานจัดรูปที่ดินที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปสู่กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินบนพื้นที่สูงของเกษตรรายย่อยและคนยากจนที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน



    โดยความอนุเคราะห์จาก www.agri.cmu.ac.th