ผศ.ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          มันสำปะหลัง “ห้วยบง 60” เป็นมันสำปะหลังที่พัฒนาขึ้นมา โดยความร่วมมือของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย พันธุ์นี้เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และเกษตรศาสตร์ 50 ตั้งแต่ พ.ศ.2534 ทำการคัดเลือกและทดสอบ ตั้งแต่ พ.ศ.2535-2544 มีคุณสมบัติดีเด่นที่ให้ผลผลิตสูงและเชื้อแป้งในหัวสูงด้วย และได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ว่า “ห้วยบง 60” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์พระราชูปถัมภ์ของมูลนิธิฯ

ประวัติ

           มันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 60” นี้ เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 โดยผสมพันธุ์ที่สถานีวิจัยศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ.2534 ซึ่งมีขั้นตอนในการคัดเลือกและทดสอบ ดังนี้

           พ.ศ.2535-2541 คัดเลือกไว้ 5 สายพันธุ์ ตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง จากทั้งหมดของคู่ผสมนี้ 963 สายพันธุ์ (ต้น)

           พ.ศ.2541-2545 ทำการทดสอบและเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นและในไร่กสิกร จำนวน 30 แปลงทดลองใน 10 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ระยอง กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และชัยภูมิ จากผลการทดลองทั้งหมดพบว่า สายพันธุ์ MKUC 34-114-206 เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และมีเชื้อแป้งในหัวสูงและแป้งมีคุณภาพดี ลักษณะต้นพันธุ์งอกดี สมควรแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย จึงขอพระราชทานชื่อ สายพันธุ์ MKUC 34-114-206 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า “ห้วยบง 60”

           “ห้วยบง” แสดงถึง ศูนย์วิจัยและพัฒนามันสำปะหลังของมูลนิธิสถาบันมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่
ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และเป็นศูนย์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จ พระราชดำเนินทรงเยี่ยมชมและประทับแรม เมื่อวันที่ 1-2 กันยายน 2537

             “60” แสดงถึง ปีที่ครบรอบ 60 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546

ลักษณะเด่น

           ลักษณะของพันธุ์ “ห้วยบง 60” จะใกล้เคียงกับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มาก ที่แตกต่างกันเพียงพันธุ์ “ห้วยบง 60” มียอดสีม่วงอ่อน และแตกกิ่งแรกที่ความสูงระดับ 90-140 เซนติเมตร ขณะที่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มียอดสีม่วงเข้ม และแตกกิ่งน้อยกว่า โดยลักษณะอื่นๆ ของพันธุ์ “ห้วยบง 60” มีดังนี้

          1. เปอร์เซ็นต์ความงอกและความอยู่รอดสูง
          2. ต้านทานโรคใบจุดปานกลาง
          3. ให้ผลผลิตหัวสดและหัวแห้งสูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 5.0-6.4 ตัน/ไร่
          4. ปริมาณแป้งในหัวสูงใกล้เคียงกับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 โดยให้ปริมาณแป้งในหัวเฉลี่ย 25.4 เปอร์เซ็นต์
          5. การที่มีผลผลิตและปริมาณแป้งสูงทำให้ได้ผลผลิตแป้งต่อไร่สูงกว่าพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 อยู่ 11 เปอร์เซ็นต์
          6. มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้ง ที่ละลายน้ำได้ (เช่น น้ำตาล) อยู่ต่ำ ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณแป้งต่อหัวมาก เพราะการมีน้ำตาลมากจะทำให้แป้งที่จะสกัดได้จากหัวมันสำปะหลังลดลง
          7. แป้งมีความหนืดสูง สามารถนำไปใช้กับอุสาหกรรมต่อเนื่องได้หลายชนิด

ข้อแนะนำในการปลูก

          มันสำปะหลังพันธุ์ “ห้วยบง 60” นี้ สามารถขึ้นได้ดีในดินปลูกมันสำปะหลังทั่วไป อย่างไรก็ตามแต่ละท้องที่การปรับตัวของพันธุ์ต่อสภาพแวดล้อมจะต่างกัน เมื่อได้รับพันธุ์ “ห้วยบง 60” นี้แล้ว ควรจะทดลองปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์ดีพันธุ์อื่นที่ใช้อยู่ หากได้รับผลผลิตสูงกว่าและลักษณะอื่นเป็นที่พอใจจึงขยายปลูกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น การที่จะปลูกให้ได้ผลผลิตสูงควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-18 (เป็นปุ๋ยสำหรับยางพารา) หรือสูตร 16-8-16 หรือ 15-15-15 อัตรา 25-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 1-2 เดือน (ในขณะที่ดินมีความชื้น) หรือใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 500-1,000 กิโลกรัม/ไร่ หว่านก่อนพรวนดินปลูก และไม่ควรเก็บเกี่ยวมันอายุน้อยกว่า 10 เดือน

หมายเหตุ : เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยสูตร 16-8-16 แทน ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ขึ้นมาใช้เอง โดยใช้
(1) ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 12 กิโลกรัม
(2) ปุ๋ยแด๊ป (15-46-0) จำนวน 9 กิโลกรัม รวม 35 กิโลกรัม
(3) ปุ๋ยม๊อป (0-0-60) จำนวน 14 กิโลกรัม
จะได้ปุ๋ย 35 กิโลกรัม ที่มีธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยสูตร 16-8-16 จำนวน 50 กิโลกรัม (1 กระสอบ)

ลักษณะประจำพันธุ์

           ความสูง 180-250 ซม. ยอดสีม่วงอ่อนและไม่มีขนอ่อน ก้านใบเขียวอมม่วง ลำต้นสีเขียวเงิน สีเปลือกหัวน้ำตาล สีเนื้อหัวมีสีขาว

Previous  |  Next ]     [ Up a level  |  First   |  Last ]     (Article 38 of 70)

This page is created with TreePad

พงษ์ศักดิ์ อยู่หุ่น PhD
คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยนเรศวร

This version of TreePad is not registered