แม้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านการผลิตมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์สูง ตั้งแต่สภาพภูมิอากาศ และศักยภาพการปลูกไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแป้งซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทุกปี
แต่ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกในแต่ละท้องที่ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการโซนนิ่ง (Zoning) เขตปลูกมันสำปะหลังขึ้น โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อจัดทำแผนที่ศักยภาพการผลิตมันสำปะหลัง โดยมุ่งพัฒนาข้อมูลพื้นฐานในจังหวัดที่มีการปลูกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการคัดเลือกพันธุ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตลอดจนวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยประมาณการผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมได้
จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ของ จังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพในการผลิตมันสำปะหลัง มากถึง 35.09 ล้านไร่ รองลงมา คือ จังหวัดเลย 33.58 ล้านไร่ สุรินทร์ 33.24 ล้านไร่ และ สกลนคร 32.17 ล้านไร่ ส่วน จังหวัดหนองบัวลำภู พื้นที่มีศักยภาพการผลิตมันสำปะหลังน้อยที่สุด ประมาณ 2.54 ล้านไร่ และผลการสำรวจพบว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 พันธุ์ระยอง 72 พันธุ์ระยอง 5 พันธุ์ระยอง 90 และขณะนี้เกษตรกรกำลังมีความต้องการมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบงค่อนข้างสูง.