"มันเฮย์"ทางเลือกฟาร์มโคนม
"โครงการวิจัยระบบปศุสัตว์-พืช" ซึ่งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมมือกับ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ขอนแก่น กรมปศุสัตว์ ได้จัดทำขึ้น โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก International Livestock Research Institute (ILRI) เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตรหรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีในท้องถิ่น เช่น การผลิตมันเฮย์ เพื่อใช้เป็นอาหารโปรตีนเสริมในโคนม ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อย
นายณรงค์ วงศ์เณร หัวหน้ากองส่งเสริมกิจการโคนม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการผลิตมันเฮย์เพื่อใช้เป็นอาหารโปรตีนเสริมในโครีดนมว่า "มันเฮย์" ก็คือ มันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีแม้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เดิมเกษตรกรปลูกเพื่อผลิตหัวสำหรับใช้เป็นแหล่งของอาหารพลังงาน และมีการเก็บส่วนใบนำมาตากแดดและใช้เป็นอาหารโปรตีนเสริมสำหรับเลี้ยงสัตว์
การผลิตมันเฮย์ดังกล่าวมีขั้นตอนที่ง่าย สะดวกและไม่ซับซ้อน โดยทำการปลูกมันสำปะหลังและเก็บเกี่ยวครั้งแรกที่อายุยังน้อย คือ ประมาณ 3 เดือน และทุก ๆ 2-3 เดือน ด้วยการหักทั้งต้นสูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร หรือหักระหว่างลำต้น ส่วนที่เป็นสีเขียวกับส่วนที่เป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาล หลังจากนั้นนำมาสับให้ได้ขนาด 2-3 เซนติเมตร และตากแดดประมาณ 2-3 วันจนแห้งเพื่อลดความชื้นและปริมาณสารไฮโดรไซยาไนด์ (hydrocyanide, HCN) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ ในการนำใช้ประโยชน์ของแหล่งโปรตีนจากมันสำปะหลัง
จากการทดลองให้เกษตรกรฟาร์มโคนมสาธิต จำนวน 33 ราย ในเขตพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมกิจการโคนมของ อ.ส.ค. จำนวน 6 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ฯ ศรีธาตุ กุดจับ และทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ศูนย์ฯ เจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ฯ น้ำพอง และกระนวน จังหวัดขอนแก่น ทำการผลิตมันเฮย์เพื่อเป็นจุดสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ พบว่าได้ผลผลิตและประสิทธิภาพค่อนข้างดี โดยเฉพาะการช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหารข้นสำหรับเลี้ยงโคนม ซึ่งเกษตรกรปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถใช้ประโยชน์ได้นานถึง 3-4 ปี หากมีการจัดการดูแลรักษาแปลงมันสำปะหลังที่ดี เช่น การใช้ปุ๋ยมูลสัตว์หรือการปลูกพืชตระกูลถั่วแทรกในแปลงมันสำปะหลัง เป็นการบำรุงดินและเพิ่มผลผลิตของมันเฮย์ และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการปลูกได้อีกด้วย
ผลการใช้มันเฮย์เป็นอาหารโปรตีนเสริมในโครีดนม ในระดับ 2 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน พบว่า โคมีแนวโน้มให้ผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น (13.8 กก./ตัว/วัน ในกลุ่มที่มีการเสริม และ 12.4 กก./ตัว/วัน ในกลุ่มที่ไม่มีการเสริม) ยิ่งกว่านั้นพบว่า องค์ประกอบของไขมันในน้ำนมของกลุ่มที่มีการเสริมมันเฮย์ มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีการเสริม ดังนั้นการใช้มันเฮย์สับในสูตรอาหารข้นนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้เลี้ยงโคนม ในการที่จะเพิ่มผลิต และลดต้นทุนค่าอาหารข้นได้.
ด็อกเตอร์ พี.
|
This version of TreePad is not registered