คอลัมน์ไขปัญหาพลังงาน :
มติชน ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2546
เอทานอล เปลี่ยนธรรมชาติ เป็นพลังงานชาติ
 
การนำสารเอทานอล ซึ่งสกัดจากพืชผสมในน้ำมันจะมีผลต่อสภาพรถยนต์หรือไม่ และขณะนี้การนำเอทานอลมาใช้นั้น ภาครัฐมีการส่งเสริมที่จริงจังเพียงใด
 
ตอบ
 
ในอดีตการเพิ่มค่าออกเทนให้กับน้ำมันเบนซิน จะมีการใช้สารตะกั่วเพื่อผสมในน้ำมัน แต่เนื่องจากสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2539 รัฐจึงมีนโยบายยกเลิกการใช้สารตะกั่ว และนำเข้าสาร MTBE (Methyl Tertary Butyl Ether) จากต่างประเทศมาผสมเพื่อเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซินแทน ซึ่งทำให้ปีหนึ่งๆ ประเทศต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าสาร MTBE ประมาณ 3,000 ล้านบาท การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 จึงเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เอทานอล (แอลกอฮอล์ที่สกัดจากพืชบริสุทธิ์ 99.5% ได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล มันสำปะหลัง เป็นต้น) เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถเพิ่มค่าออกเทนทดแทน สาร MTBE ได้
 
การนำเอทานอลมาใช้จึงเกิดขึ้น และกลายเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่เป็นการผสมระหว่างน้ำมันเบนซิน 91 กับเอทานอล ที่สามารถนำมาใช้กับรถยนต์ได้ ในอัตราส่วนร้อยละ 90 : 10 โดยพิสูจน์แล้วว่าไม่มีปัญหากับสภาพและสมรรถนะของเครื่องยนต์ ตลอดจนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ใช้น้ำมัน เนื่องจากราคาจำหน่ายถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งขณะนี้มีสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน แก๊สโซฮอลล์ประมาณ 100 แห่ง ทั้งของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และคาดว่าในระยะยาวจะมีผู้ผลิตรายอื่นให้บริการเพิ่มขึ้นอีก
 
ปัจจุบันได้มีความร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเร่งพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานจากพลังงานทดแทน ด้วยการนำเอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินมากขึ้น มีการผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดผล อย่างจริงจัง โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้โรงงานน้ำตาลสามารถผลิต เอทานอลได้ และการกำหนดให้มีวัตถุดิบ เช่น อ้อย กากน้ำตาล มันสำปะหลัง ในปริมาณที่เพียงพอที่จะผลิตเอทานอลตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำได้อีกทางหนึ่ง
 
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ในการวางแผนกำหนดพื้นที่เพาะปลูก และการวิจัยพัฒนาพันธุ์อ้อย และมันสำปะหลัง เพื่อให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ทำให้มีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอ สำหรับการผลิตเอทานอลในอนาคต
 
ในส่วนของนโยบายและแผนการใช้เอทานอล แบ่งออกเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะแรก ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2547 - 2549 รัฐจะกำหนดนโยบายลดการใช้สาร MTBE ด้วยการใช้เอทานอลทดแทนทั้งหมด ในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และระยะที่สอง พ.ศ. 2549 - 2551 จะกำหนดนโยบายการใช้เอทานอลผสมในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ทั่วประเทศ
 
โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด 2. บริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด 3. บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 4. บริษัท แสงโสม จำกัด 5. บริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด 6. บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด และ 7. บริษัท ไทยเนชั่นแนล พาวเวอร์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการอีกประมาณ 15 ราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการเอทานอล เพื่อคัดเลือกและออกใบอนุญาตประกอบการ คาดว่าจะได้ผลสรุปในเร็วๆ นี้
 
การนำน้ำมันที่สกัดได้จากพืชมาใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิง นอกจากช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำได้
 
 
 
 
 
 
Previous  |  Next ]     [ Up a level  |  First   |  Last ]     (Article 17 of 70)

This page is created with TreePad

พงษ์ศักดิ์ อยู่หุ่น PhD
คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยนเรศวร

This version of TreePad is not registered