เหตุทุนไทยไม่สนผลิต''เอทานอล''
 
จาก http://www.manager.co.th/ 
วันที่ 14 กันยายน 2547
เหตุทุนไทยไม่สนผลิต"เอทานอล"ติดเงื่อนไขภาษี-กรรมการจุกจิก 
ศูนย์ข่าวศรีราชา-อุปนายกสมาคมฯมัน ชี้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนผลิตเอทานอล เหตุติดที่เงื่อนไขการพิจารณาของคณะกรรมการเอทานอลฯที่ยุ่ง แถมรัฐยังคุมราคาขาย และการจัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต จี้รัฐควรเปิดเสรีแบบไม่มีเงื่อนไข ก่อนต่างชาติแห่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้มันของไทยและส่งขายทั่วโลก
 
นายนิยม จุฬาเสรีกุล อุปนายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย เปิดเผยว่า สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลังและหน่วยงานต่างๆ ได้สำรวจภาวะการผลิตและการค้ามันสำปะหลัง ฤดูการผลิตปี 2547/2548 พบว่า
 
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งสิ้น 6.69 ล้านไร่ มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 3.315 ตัน ผลผลิตรวม 22.192 ล้านตัน แบ่งเป็นการผลิตแป้งมัน 11 ล้านตัน มันเส้น 5 ล้านตัน และหัวมันสด 5 ล้านตัน ถือเป็นวัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับผลิตเอทานอล หากรัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชน ตั้งโรงงานผลิตอย่างจริงจังและจากภาวะผลผลิตรวมที่มีอยู่จะสามารถแบ่งหัวมันเพื่อผลิตเป็นเอทานอลได้ไม่น้อยกว่า 6 ล้านตันต่อปี
 
อย่างไรก็ตาม จากเงื่อนไขการพิจารณาให้เอกชนดำเนินการ ของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ที่มีมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้เอกชน ทำแผนการลงทุนว่าใช้งบประมาณเท่าใด สามารถผลิตเอทานอลได้เท่าไรต่อปี และใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง รวมทั้งการนำเสนอสถานที่ก่อตั้งโรงงาน ทำให้ภาคเอกชนหลายรายไม่กล้าตัดสินใจลงทุน
 
ที่สำคัญการควบคุมราคาจำหน่ายที่ลิตรละ 12.75 บาทและการกำหนดภาษีสรรพสามิต ทำให้สถาบันการเงินในประเทศ เห็นว่าการปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนการก่อตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศ เป็นเรื่องที่เสี่ยงและยากต่อการปล่อยกู้ ส่งผลให้เอกชนหลายรายไม่ต้องการก่อตั้งโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศ
 
"ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถผลิตเอทานอลได้ถึง 7 โรงงาน และกำลังจะเปิดใหม่อีก 18 โรงงาน แต่เวลานี้ติดขัดอยู่ที่ขั้นตอนการพิจารณาให้ดำเนินการของคณะกรรมการฯ ซึ่งในส่วนของตน จากเดิมเคยมีแนวคิดจะตั้งโรงงานใน จ.สระแก้ว แต่เมื่อเจอเงื่อนไขต่างๆ ของคณะกรรมการฯ บอกได้คำเดียวว่าไม่ทำแน่ แต่หากรัฐบาลเปิดให้เอกชนลงทุนแบบไม่มีเงื่อนไขแบบประเทศจีน ตนก็จะทำและตอนนี้ที่จีนก็มีโรงงานผลิตเอทานอลถึงกว่าพันโรง รัฐบาลเขาไม่เห็นเป็นห่วงเรื่องการนำมาใช้ผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือสุราแต่อย่างใด"นายนิยม กล่าวและว่า
 
จากการมีโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศจีนกว่าพันโรงงาน ทำให้ประเทศจีนได้สั่งเพิ่มการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศคู่ค้าถึง 3.5 ล้านตันต่อปี และประเทศไทยจะสามารถส่งออกมันสำปะหลังไปยังประเทศจีน ได้ประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นการส่งออกที่มากกว่าเดิมถึง 1 ล้านตัน
 
นายนิยม เผยเพิ่มเติมว่า ความต้องการมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่หากรัฐบาลเปิดเสรีให้เอกชน จัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลได้แบบไม่มีเงื่อนไขจะทำให้ เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้ชัดว่าเอกชนสามารถตั้งโรงงานได้แบบไม่มีเงื่อนไข และกำหนดภาษีสรรพสามิตเป็นศูนย์ รวมทั้งกำหนดตลาดรองรับการผลิตแบบไม่อั้น ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับเอกชนมากขึ้น
 
"เมื่อรัฐบาลไทยเป็นเช่นนี้แล้ว ตอนนี้ผู้ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่หันไปค้าขายกับจีนหมดแล้ว ตนเองก็ตั้งบริษัทเพื่อค้ามันสำปะหลังกับจีน และตอนนี้นักลงทุนของบราซิล ก็กำลังจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อผลิตออกขายทั่วโลกโดยจะใช้พันธุ์มันสำปะหลังจากไทย และจ้างคนในประเทศปลูก หากรัฐบาลยังช้าถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย ทั้งที่วัตถุดิบของเรามีมาก ทั้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย " นายนิยม กล่าว
 
จาก http://www.manager.co.th/  วันที่ 14 กันยายน 2547
 
Previous  |  Next ]     [ Up a level  |  First   |  Last ]     (Article 18 of 70)

This page is created with TreePad

พงษ์ศักดิ์ อยู่หุ่น PhD
คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยนเรศวร

This version of TreePad is not registered