หวั่นเกษตรกรผลิต 'อ้อย-มันสำปะหลัง' ป้อนโรงงานเอทานอลไม่ทัน เตรียมวิจัยใช้ 'ข้าวฟางหวาน' เป็นวัตภุดิ
 
นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทุกหน่วยเริ่มหันมาสนใจการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะโครงการผลิตเอทานอลเพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ นับเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจมาก ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลเริ่มเดินเครื่องผลิตเอทานอลออกจำหน่ายแล้ว 1 โรงงาน โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 25,000 ลิตรต่อวัน อีก 2 โรงงานจะเริ่มผลิตได้ภายใน 2 สัปดาห์ และอีก 4 โรงงานอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2550 โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1.29 ล้านลิตร ขณะนี้มีผู้ประกอบการและโรงงานน้ำตาล ยื่นขออนุมัติจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มอีกกว่า 20 แห่ง ซึ่งเกรงว่าในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานเอทานอลเกิดการขาดแคลนได้ ทั้งนี้ เนื่องจากอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวค่อนข้างยาวนาน ประมาณ 8 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นห่วงว่าเกษตรกรอาจจะผลิตวัตถุดิบได้ไม่ทันความต้องการของโรงงาน ดังนั้น จึงควรหาพืชอื่นมาช่วยเสริมในช่วงที่ไม่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งข้าวฟ่างหวานถือเป็นพืชหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมได้ เพราะที่ลำต้นจะมีปริมาณน้ำตาลสูงเช่นเดียวกับอ้อย "ปัจจุบันข้าวฟ่างหวานได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากขึ้น เพราะสามารถสกัดเป็นแอลกอฮอล์ได้และมีข้อดี คือ เป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว มีความทนแล้ง อายุเก็บเกี่ยวสั้น ใช้เวลาปลูกประมาณ 4 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยให้ผลผลิตสูงถึง 6-7 ตันต่อไร่ และข้าวฟ่างหวาน 1 ตัน สามารถนำมาผลิตเป็นแอลกอฮอล์ได้ 35-50 ลิตร จึงคาดว่าน่าจะเป็นพืชหนึ่งที่ใช้เป็นวัตถุดิบเสริมเพื่อป้อนโรงงานผลิตเอทานอล" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยพืชไร่ ดำเนินการศึกษาและวิจัยแนวทางการปลูกข้าวฟ่างหวาน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเป็นการค้าโดยเฉพาะข้าวฟ่างหวานพันธุ์ Rio ถือเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ความหวานสูงที่สุด ซึ่งในสหรัฐอเมริกานิยมปลูกเพื่อใช้ทำน้ำเชื่อม ส่วนประเทศไทยมีการปลูกข้าวฟ่างหวานมานานแต่ไม่เน้นปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์.
 
เดลินิวส์ กันยายน 2548
Previous  |  Next ]     [ Up a level  |  First   |  Last ]     (Article 19 of 70)

This page is created with TreePad

พงษ์ศักดิ์ อยู่หุ่น PhD
คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยนเรศวร

This version of TreePad is not registered